Thursday, May 8, 2014
10 กฏเหล็ก สำหรับการปั่นบนถนนใหญ่ในเมือง
1 เรียนรู้ทักษะ
ถ้าจะพูดกันถึงทักษะการปั่นจักรยานก็คงไม่ใช่แค่สักแต่ว่าปั่นกันเหมือนเมื่อสมัยเราเด็กๆ เป็นแน่แต่มันหมายถึงการควบคุมจักรยานขั้นพื้นฐาน การรู้จังหวะการปั่น รวมถึงมารยาทในการใช้ถนนเพื่อการเดินทางในเมืองที่แสนวุ่นวาย
2 ระวังท่อ!!!
ถ้าใครมีเพื่อนที่เป็นนักปั่นรุ่นเก๋าในเมือง หลายคนคงจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับท่อระบายน้ำ และอีกหลายคนก็คงเคยประสบอุบัติเหตุจากการที่ล้อตกลงไปในช่องท่อระบายน้ำจนรถคว่ำกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตะแกรง หรือฝาท่อแบบกลมก็สามารถทำให้เราเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งนั้น ตะแกรงอาจจะทำให้ล้อเราติด ฝาท่อกลมอาจจะทำให้เสียการทรงตัว จะให้ดีจริงๆ แล้วเราควจจะปั่นห่างจากท่อระบายน้ำประมาณ 50 ซม. จากขอบ เพราะแม้แต่ขอบรอบๆ ฝาท่อบ้านเราก็เก็บงานไม่เรียบร้อยนะครับ อิอิ
3 ให้รถไปก่อน
การสบตาคนขับรถที่สวนมา หรือกำลังจะเลี้ยว ช่วยเป็นเครื่องยืนยันให้เรารู้ว่าพวกเขาได้เห็นเรา อาจจะเป็นวิธีที่โปรหลายคนแนะนำนักปั่นหน้าใหม่ แต่ผมบอกเลย เห็นก็ไม่ได้แปลว่าจะหยุดรถให้นะครับ การขับรถของคนไทยแย่ลงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางแยก แยกเล็ก แยกใหญ่ เราก็ควรหยุดให้รถไปก่อน เอาให้แน่ใจ ไปช้าดีกว่าหลับคาถนนเชื่อผม
4 ให้สัญญาณเสมอ
ไม่ว่าเราจะหยุดรถ เลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา เราก็ควรให้สัญญาณมือนะครับ ฝึกไว้ให้ชิน แม้ไม่มีรถ ถนนโล่งๆ ปั่นคนเดียว เราก็ควรจะปฏิบัติ เวลาเราปั่น มันจะมีมุมอับสายตาที่เรามองไม่เห็นคาดไม่ถึงเสมอ ยิ่งถ้าไปกันเป็นทีม ก็ควรจะมีการให้สัญญาณมือที่ละเอียดขึ้น เช่น ชี้จุดว่ามีหลุมหรือก้อนหิน จำเป็นต้องแซงออกขวาแต่มองหลังไม่เห็น ให้คนท้ายสุดดูให้หน่อย หรือสั่งแถวเรียงเดี่ยว หรือแถวเรียงคู่เป็นต้นครับ
5 อย่าไว้ใจซ้ายสุด
ถ้าเราปั่นขอบซ้านสุดของถนน เรียกได้ว่าแทบจะติดทางเท้าบนถนนที่รถติดจอดแน่นิ่ง อย่าชะล่าใจปั่นด้วยความรวดเร็ว ให้ระวังคนที่นั่งอยู่ในรถจะเปิดประตูออกมาจ๊ะเอ๋ หรือไม่ก็คนบนรถเมล์โดนลงมากอดคุณได้ บางครั้งเขาก็มองไม่เห็นเราครับ ไม่เห็นจริงๆ นะ ผมเคยเกือบเปิดประตูอัดจักรยานคันหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ดูดีแล้วว่าข้างหลังโล่ง
6 เคารพกฏจราจร
ขอให้นักปั่นทุกท่านเคารพกฏจราจรด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟแดง หรือไฟเหลืองก็ให้หยุด อย่าเชื่อมั่นในกำลังขาและความพริ้วของเรามากไป เพราะมันจะทำให้เรานอนหลับกลางสี่แยกได้ ทางม้าลาย ช่องตาข่ายเหลืองห้ามหยุด หรือแม้แต่ทางวันเวย์ก็พยายามอย่าไปผิดกฏหมายนะครับ มันจะเจ็บเอา
7 สะพานลอยบ้างก็ได้
บนถนนใหญ่ๆ การที่คิดจะปั่นตัดรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง หลายๆ คัน มันคงไม่สนุก ถ้าไม่เหนื่อยจนเกินไปนัก เราควรจะใช้สะพานลอยครับ ผมเห็นสะพานลอยหลายแห่งใน กทม. เริ่มใช้รางจักรยาน เพื่อให้นักปั่นจูงจักรยานขึ้นสะพานลอยได้อย่างสะดวก แต่เอาจริงๆ นะ มันจูงยากกว่าแบบไม่มีรางอีก
8 เลี่ยงถนนลื่น
ฝนตก ถนนลื่น ยิ่งเสือหมอบที่ยางเรียบยิ่งอันตราย ไหนจะฝน ไหนจะถนนที่ลื่น ไหนจะน้ำที่สาดมาจากรถคันอื่น จอดพักเลยครับ หากาแฟร้อนๆ จิบ ไม่ก็จอดจักรยานล็อคไว้ แล้วไปแท็กซี่ก็ได้
9 เลนจักรยาน
แน่นอนครับว่าเลนจักรยานนั้นย่อมจะปลอดภัยที่สุดเมื่อเราลงมาปั่นบนถนน ถ้ามีก็ใช้เลยครับ จะเล็ก จะแคบ จะไม่เรียบ ก็ทนๆ เอาหน่อย อย่าผ่าออกมาเลนรถยนต์ ใช้เยอะๆ แล้วออกเสียงให้เยอะๆ ครับ เค้าจะได้ปรับปรุง
10 จูง
ข้อสุดท้าย อันนี้ผมเห็นทำกันบ่อย เวลาเราจะข้ามถนน บางคนจากจอดก็ขึ้นปั่นเลย ทราบหรือเปล่าครับว่ามันอันตราย การเริ่มออกตัวเราจะควบคุมรถลำบาก พอเราเริ่มถีบ ก็จะมาถึงเส้นกลางถนน เราต้องหันหน้าไปมองรถอีกทาง และรถเราก็จะขวางกลางเลนอยู่ อันตรายมากๆ ผมแนะนำวิธีสากลแบบเก่าๆ นะครับ ถ้าจะข้าม ลง แล้วจูงรถครับ จะเดิน จะวิ่งก็ตามสะดวก การจูงจะปลอดภัยที่สุด เราสามารถหยุดได้ ยกรถได้ จนตัวทิ้งรถวิ่งก็ยังได้ครับ
จริงๆ อยากจะเขียนเยอะกว่านี้นะครับ เพราะมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก แต่คิดว่ามาต่อวันหลังดีกว่า อย่าลืมนะครับ "อยากปั่น ออกไปปั่น"
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment